เวียดนามจัดเป็นประเทศที่น่าลงทุนธุรกิจค้าปลีกอันดับที่ 6 ของโลก (ไทยอยู่อันดับที่ 30) ในปี 2560 เห็นได้จากนักธุรกิจจากต่างประเทศรวมทั้งไทยจับมือกันบุกตลาดเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และอีคอมเมิร์ซ เปิดช่องให้สินค้าไทยและเทศวางจำหน่ายในเวียดนามผ่านช่องทางหลากหลายมากขึ้น มาดูกันว่ามีเคล็ดลับไหนบ้างที่ทำให้สินค้าไทยได้ใจคนเวียดนาม
1. บรรจุภัณฑ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

นอกจากที่คนเวียดนามจะเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทยว่ามีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมแล้ว การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงใจคนเวียดนามยังช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างดี คนเวียดนามชอบบรรจุภัณฑ์ที่ดูสวยงาม ดูมีราคา มีคำว่า Made in Thailand และมีข้อความภาษาไทยบนสินค้า นอกจากจะซื้อไปบริโภคในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถมอบเป็นของขวัญได้อีกด้วย โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็นสินค้าที่ได้จากธรรมชาติ (Organic product) และสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมถือเป็นจุดขายที่คนเวียดนามตอบรับอย่างดี
2. เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ



หลังจากที่ผู้ประกอบการเริ่มศึกษาตลาดเวียดนามอย่างจริงจัง แล้วขอให้ลงมือสำรวจตลาดด้วยตัวเองโดยอาจเริ่มจากเมืองหลักอย่างโฮจิมินห์และฮานอย เพื่อให้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่แข่งอย่างชัดเจนมากขึ้น แล้วจึงค่อยหาจุดยืนในตลาดที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายลูกค้า การทดลองตลาดเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอย่างเช่น งานจับคู่ธุรกิจและงาน Top Thai Brands และนำผลตอบรับกลับมาปรับปรุงสินค้าให้เหมาะกับตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานเหล่านี้หลายๆครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าถูกจริตคนเวียดนาม
3. เลือกกลยุทธ์บุกตลาดเวียดนามให้เหมาะสมกับบริษัท



การบุกตลาดเวียดนามสามารถทำได้หลายช่องทาง สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ที่มีประสบการณ์การส่งออกน้อยควรเลือกใช้ตัวแทนจำหน่าย (Distributor) เพราะตัวแทนจำหน่ายมีความเชี่ยวชาญและมีเครือข่ายช่องทางการจำหน่ายสินค้ามากกว่าผู้ประกอบการไทย ส่วนบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้ที่มีประสบการณ์การส่งออกสูงอาจเลือกจัดตั้งบริษัทที่เวียดนามโดยตรงเพื่อกระจายสินค้าด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม แผนการตลาดเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ผู้ประกอบการอาจเลือกการแจกสินค้าทดลอง ส่วนลดพิเศษ ซื้อ 1 แถม 1 หรือการแนะนำปากต่อปากเมื่อเข้าสู่ตลาดเวียดนามในระยะแรก ส่วนในระยะยาวอาจใช้โฆษณา ป้ายประกาศ หรือช่องทางออนไลน์เพื่อให้คนเวียดนามจดจำตัวสินค้าและซื้อมาบริโภค สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะพลาดคือไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับแผนการตลาด
4. หมั่นอัพเดตช่องทางการตลาดใหม่ ๆ



ผู้ประกอบการควรค่อยๆเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไปยังเมืองอื่นๆของเวียดนามเมื่อสินค้าเริ่มขายได้ต่อเนื่อง โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการจะต้องหาตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ที่เชี่ยวชาญในเมืองหรือเขตนั้นๆ เนื่องจากเวียดนามมีลักษณะประเทศที่เป็นแนวยาว ทำให้การเจาะตลาดแต่ละเมืองอาจจะต้องใช้ตัวแทนรายใหม่ ๆ นอกจากช่องทางออฟไลน์แล้วยังมีช่องทางออนไลน์อย่างอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซที่เริ่มมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยากจับลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน
แหล่งที่มา ธนาคารกสิกรไทย